- 10 ก.ค. 2568
นอนน้อยเรื้อรัง เสี่ยงสมองพัง หมอเตือน แย่เท่าคนเมาแอลกอฮอล์ เสี่ยงอัลไซเมอร์พุ่งสูงถึง 50% อยากเก่งต้องนอนให้พอ
ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท โพสต์ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊ก ชี้ชัดพฤติกรรมนอนน้อยเรื้อรัง ส่งผลเสียต่อสมองอย่างรุนแรง ถึงขั้นเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะอัลไซเมอร์ในระยะยาว พร้อมระบุว่า การนอนน้อยอย่างต่อเนื่องสามารถทำให้สมองแย่ลงในระดับเดียวกับ “คนเมาแอลกอฮอล์”
หมอสุรัตน์เผยว่า หากนอนน้อยเพียง 4-6 ชั่วโมงต่อคืน นานเกิน 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มส่งผลให้ความจำแย่ลง สมาธิลดลง และการประมวลผลข้อมูลช้าลง แม้ยังไม่จัดว่าเป็นภาวะสมองเสื่อม แต่สมองเริ่มทำงานด้อยประสิทธิภาพ
แต่ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ หากนอนน้อยเรื้อรังเป็น “เดือนหรือปี” จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมอย่างอัลไซเมอร์ โดยมีงานวิจัยจาก Nature Communications (2021) ซึ่งศึกษากลุ่มคนอายุ 50-70 ปี จำนวนกว่า 8,000 คน พบว่า ผู้ที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง/คืนต่อเนื่องหลายปี มีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นถึง 30%
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Harvard Medical School ยังชี้ว่า การนอนหลับช่วยให้สมอง “ล้างพิษ” โดยเฉพาะการกำจัดสารพิษอย่าง beta-amyloid ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่พบในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หากพักผ่อนไม่เพียงพอ ระบบนี้จะทำงานบกพร่อง ทำให้ของเสียสะสมในสมองจนเสี่ยงต่อการเสื่อมถาวร
ที่น่าตกใจคือ งานวิจัยในมนุษย์พบว่า ผู้ที่นอนเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวัน นาน 2 สัปดาห์ จะมีความสามารถทางสมองลดลงเทียบเท่าคนที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก - และแม้จะนอนชดเชยภายหลัง ร่างกายก็ไม่สามารถฟื้นฟูสมองได้เต็มที่
สัญญาณเตือน สมองเริ่มเสื่อมจากการนอนน้อย
- ลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น
- สมาธิสั้น คิดช้า
- หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ยาก
- เริ่มพูดซ้ำ หรือลืมคำง่าย ๆ
หมอแนะ 4 วิธีป้องกันสมองเสื่อมจากการนอนน้อย
- นอนวันละ 7-8 ชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอ
- เข้านอน-ตื่นนอนให้เป็นเวลา แม้วันหยุด
- หลีกเลี่ยงคาเฟอีนและหน้าจอก่อนนอน
- ออกกำลังกายช่วงเช้าหรือบ่าย ช่วยให้หลับลึกขึ้น
“อย่าคิดว่านอนน้อยคือความขยัน เพราะสมองของคุณอาจกำลังพังลงโดยไม่รู้ตัว”
ขอบคุณ สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์